เรื่องน่ารู้เพื่อบ้านเย็น : การจัดสวนบนหลังคา

Facebook Twitter Email
วันนี้มาทำความรู้จักกับ การปลูกพืชคลุมหลังคา หรือ Green Roof ว่าคืออะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้างและช่วยให้บ้านเย็นได้อย่างไรกันครับ

Green Roof คืออะไร ? 



เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทางเราขออธิบาย Green Roof ก่อนว่าเป็นการปลูกพืชบนหลังคา ซึ่งรวมถึงการจัดสวนบนหลังคาด้วยเช่นกัน เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไปคือ การปลูกหญ้าประดับบนหลังคาบ้าน หรือการปลูกพืชจัดสวนบนหลังคาชั้นดาดฟ้าของร้านกาแฟ และก็มีหลายคนสับสนกันระหว่าง Green Roof กับ"หลังคาเขียว" ขออธิบายเลยว่า หลังคาเขียว เป็นเทคโนโลยีระบบหลังคาที่ช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งหนังสือบางเล่มหรือเว็บไซต์บางส่วน รวม Green Roof เป็นส่วนหนึ่งของหลังคาเขียว
 

ความเป็นมาของ Green Roof



Green Roof หรือการปลูกพืชบนหลังคานั้นสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยบาบีโลน และบ้านพื้นถิ่นของชาวยุโรปแถวสแกนดิเนเวียน ที่ใช้ไม้ทำหลังคา เปลือกไม้มุงหลังคา และปลูกหญ้าคลุมบนหลังคา เพื่อลดการสูญเสียความร้อนให้แก่บ้าน และได้ถูกนำมาใช้ยังอาคารขนาดใหญ่ในแถบประเทศตะวันตก ก่อนจะเริ่มได้รับความนิยมในไทยครับ
 

ประเภทของ Green Roof



รูปแบบของ Green Roof หรือ Roof Garden สามารถแบ่งกว้างออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ

    1. Intensive Roof Garden คือ หลังคาเขียวหรือสวนหลังคาแบบใช้สอย หมายถึง การปลูกพืชบนหลังคาที่เราสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนั้นได้ เช่น ใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน เหมาะสำหรับทาวน์โฮมที่มีชั้นดาดฟ้า แต่ไม่มีพื้นที่ภายนอกอาคาร ข้อควรคำนึงถึงคือ ต้องหมั่นดูแลสวนให้สวยงามอยู่เสมอ และอาจมีราคาสูงเนื่องจากการดูแลพื้นที่ดังกล่าว

    2. Extensive Roof Garden คือ หลังคาเขียวหรือสวนหลังคาแบบไม่ใช้สอย  หมายถึงการปลูกพืชคลุมบนหลังคา โดยที่เราไม่สามารถเข้าไปยังพื้นตรงนั้นได้ เช่น การปลูกพืชบนหลังคาที่มีความลาดเอียงโดยปลูกเพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับตัวบ้าน ข้อควรคำนึงถึง  ควรปลูกพืชชนิดพืชคลุมดิน พืชอวบน้ำ และพืชทนแล้งชนิดต่างๆ จะทำให้ลดการดูแลและลดค่าใช้จ่าย

 

ส่วนประกอบของ Green Roof


เมื่อทราบข้อมูลพื้นฐานต่างๆของ Green Roof แล้ว ตอนนี้ก็มาถึงส่วนประกอบของ Green Roof  โดยส่วนประกอบของGreen Roof ในบทความนี้จะอธิบายวิธีการทำ Grren Roof หลังคาคอนกรีต ซึ่งจะแบ่งออกเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยชั้นต่างๆ ดังนี้
1. หลังคาคอนกรีต เมื่อตัดสินใจทำ Green Roof หลังคาคอนกรีตควรทำระบบกันซึมให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหารั่วซึมเมื่อเราปลูกพืชคลุมหลังคา
2. ปูกระดาษกันความชื้นหรือปูแผ่นพลาสติกกันน้ำ  เพื่อป้องกันน้ำซึมไปยังพื้นหลังคา
3. ตะแกรงระบายน้ำ ช่วยระบายน้ำเมื่อเราลดน้ำต้นไม้ ไม่ให้เกิดน้ำขังป้องกันรากเน่า
4. แผ่นผ้ากรองหรือแผ่นใยสังเคราะห์ระบายน้ำ (Geotextile) เพื่อช่วยพยุงชั้นดินหรือวัสดุปลูก
5. วัสดุปลูก ในที่นี้หมายถึง ชั้นดินปลูกก็ได้ แต่ด้วยเทคโนโลยี ทำให้มีวัสดุปลูกสำเร็จที่ง่ายต่อการใช้งายให้เลือกตามความเหมาะสมของพื้นที่ คือ แบบถาด แบบถุง หรือแบบแผ่น เป็นแบบสำเร็จสามารถซื้อมาวางบน พื้นหลังคาที่เราทำกันซึมและวางระบบระบายน้ำได้เลย
6. พืชพรรณ ควรปลูกพืชที่มีความเหมาสมกับพื้นที่ เช่นไม่ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ ควรเป็นไม้ประดับขนาดเล็ก หรือพืชรากสั้น เป็นต้น
 

ประโยชน์ของ Green Roof


ประโยชน์ของ Green Roof นอกจากจะเป็นพื้นที่สีเขียวของบ้านที่สร้างความสบายตาและสวยงามให้กับบ้านแล้ว Green Roof ยังช่วยลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร เพราะ ต้นไม้ที่ปกคลุมบนหลังคาจะช่วยสะท้อนความร้อนและทำให้อาคารเย็นขึ้น  นอกจากนี้เมื่อความร้อนเข้าสู่อาคารได้น้อยลงก็ทำให้เราประหยัดพลังงานที่ใช้ทำความเย็นภายในบ้าน เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ต้องทำงานหนัก ก็ทำการยืดอายุให้เครื่องใช้ไฟฟ้า  นอกจากนี้ Green Roof เราสามารถปลูกเป็นผักสวนครัวบนหลังคา เป็นแหล่งอาหารสด ลดค่าใช้จ่ายภายในบ้านได้อีกด้วย

ปัญหาของ Green Roof



สำหรับการทำ Green Roof นั้นอาจก่อให้เกิดปัญหากับตัวบ้านหรืออาคารได้ ดังนี้ ปัญหาหารรั่วซึม เนื่องจากการปลูกพืชคลุมบนหลังคา ซึ่งต้องมีการลดน้ำอยู่เป็นประจำ อาจก่อให้เกิดการรั่วซึมของหลังคาได้  ดังนั้นก่อนที่จะทำ Green Roof ควรทำกันซึมหลังคาให้เรียบร้อยเสียก่อน นอกจากปัญหาการรั่วซึมแล้ว การเลือกปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่เกินไปหรือการปลูกโดยไม่ได้คำนวณโครงสร้างหลังคาก่อน อาจก่อให้เกิดการทรุดตัวของหลังคาได้ เนื่องจากรับน้ำหนักของดินปลูกหรือต้นไม้ไม่ไหว ดังนั้นก่อนทำ Green  Roof จึงต้องมีการคำนวณโครงสร้างให้ดีเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาครับ

ไอเดียแต่งบ้าน